กลุ่มอาการปวดอาจแบ่งได้หลายลักษณะ คือ ปวดตามข้อมือ ข้อเท้า หรือข้อเข่า ซึ่งเป็นโรคข้อที่ฮิตกันมาก โรคปวดข้อเข่ามาจากหลายสาเหตุ อาจมาจากโรครูมาตอยด์ ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายข้อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบของข้อ เนื้อเยื่อรอบข้อ โรคเกาต์ รวมถึงภาวการณ์เสื่อมข้อเส้นเอ็น น้ำในไขข้อ ปวดส้นเท้าเนื่องจากเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
ปวดตามหลัง คอ บ่า ไหล่ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูกทับเส้น อาการเหล่านี้ล้วนจะนำไปสู่สาเหตุการเกิดโรคอื่นๆ ต่อไป หรือในทางตรงข้ามมีอาการของโรคอื่นๆ แล้วและมาแสดงออกที่อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการเจ็บปวดไหล่ที่อาจมาจากโรคหัวใจ หรือมาจากกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดีก็ได้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ยกมาเล่า
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราไม่มีวันเรียนรู้อย่างแตกฉานได้ อาจเรียกได้ว่าร่างกายมนุษย์คือสิ่งมหัศจรรย์มาก ในร้อยคนก็คือความมหัศจรรย์ร้อยอย่าง ฉะนั้นโรคและอาการในร้อยคนดังกล่าวแม้หมออาจวินิจฉัยอาการโรคเดียวกัน แต่ก็พบว่าอาการของโรคที่แต่ละคนแสดงออกนั้นก็ไม่เหมือนกันเสียทั้งหมด ร่างกายจึงเสมือนสิ่งมหัศจรรย์ลึกลับที่น่าค้นหาไม่มีวันจบ
สำหรับหลักการแพทย์แผนไทย การใช้ยาในกลุ่มที่มีอาการปวดดังกล่าวนั้น มียาสมุนไพรมากมายที่ระบุสรรพคุณแก้ปวดเส้น แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สำหรับหมอเวชกรรมจะจ่ายยาเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจวินิจฉัยอาการของคนไข้เสียก่อนจึงจะจ่ายยา อย่างที่บอกอาการในกลุ่มปวดนี้มันอาจจะมาจากโรคอื่นๆ ก่อนก็ได้ ดังนั้นสภาพร่างกายของผู้ป่วยอาจต้องได้รับการเยียวยาในกลุ่มโรคที่เป็นนั้นก่อน หมอจึงค่อยกลับมาดูอาการร่วมอื่นๆ
เรามาทำความรู้จักกับกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวด เช่น เถาวัลย์เปรียง เป็นยาที่ได้รับการวิจัยและยอมรับว่ามีคุณภาพสูงในการใช้รักษาอาการปวดหลัง ปวดข้อเข่าเสื่อม และยังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังนิยมใช้ยาสมุนไพรในกลุ่มบำรุงกำลัง เช่น พวกกำลังวัวเถลิง ฮ้อสะพายควาย กำลังวัวเถลิง แซ้ม้าทะลาย ม้ากระทืบโรง เถาโคคลาน กำแพงเจ็ดชั้น กำลังเสือโคร่ง กำลังหนุมาน กำลังช้างเผือก แห้วหมู กระชาย สมุนไพรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็มีสรรพคุณคล้ายคลึงกัน คือ บำรุงกำลังแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นตึง แก้กระษัย แก้ปวดตามข้อ แก้ปวดข้อเข่า บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุ เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นต้น จึงได้นำยากลุ่มนี้ไปดองกับสุรารับประทานแก้ปวด
แต่ในปัจจุบันการดองยาบำรุงกำลังแก้ปวดเมื่อย ก็แปรเปลี่ยนเจตนารมณ์ไปใช้เชิงการค้า เกิดร้านเหล้ายาดองมากมาย ซึ่งชักนำให้คนใช้ยาดองเป็นเครื่องดื่มมึนเมามากกว่าใช้เพื่อรักษาโรคและอาการ
ยาอีกกลุ่มคือพวกยากระษัยเส้น พวกนี้ไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาอาการปวดโดยตรง แต่จะไปช่วยขับถ่ายของเสียที่คั่งค้างตามเส้นเอ็น ซึ่งทำให้เกิดการปวดเมื่อย ตรงกับหลักการปรุงยา หรือถ่ายของเสียออกจากร่างกายก่อน เราจึงรักษาโรคนั้น หลักการนี้ก็เหมือนกับการขับล้างสารพิษออกจากร่างกายและจึงค่อยบำรุงก็จะทำให้ร่างกายดีขึ้น
ยาอีกกลุ่มหนึ่งคือยาสามัญประจำบ้าน และยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ใช้กันมาก แต่คนรู้จักสรรพคุณน้อย คือ ยาธรณีสัณฑฆาต ตัวยาประกอบ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู เทียนดำ เทียนขาว หัวดองดึง หัวบุก หัวกลอย หัวกระดาดขาว หัวกระดาดแดง ลูกเร่ว ขิง ชะเอมเทศ รากเจตมูลเพลิงแดง โกฐกระดูก โกฐเขมา โกฐน้ำเต้า หนักสิ่งละ 1 ส่วน ผักแพวแดง เนื้อลูกมะขามป้อม หนักสิ่งละ 2 ส่วน เนื้อลูกสมอไทย มหาหิงคุ์ การบูร หนักสิ่งละ 6 ส่วน รงทอง (ประสะแล้ว) หนัก 4 ส่วน ยาดำหนัก 20 ส่วน พริกไทยล่อนหนัก 96 ส่วน
สรรพคุณของยาธรณีสันฑฆาต คือ แก้กษัยเส้น เถาดาน ตัวยาสำคัญของยาตำรับนี้คือ พริกไทย 96 ส่วน ซึ่งเป็นตัวยามากที่สุด พริกไทยสรรพคุณแก้ลมอัมพฤกษ์ แก้ลมลั่นในท้อง บำรุงธาตุ เรียกว่าเป็นเจ้าแงการขับลมในเส้นตามร่างกาย จึงนำไปเข้ายารักษากลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือนำไปเคี่ยวกับน้ำมันใช้ถูนวดผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ผลดีเช่นกัน ยาตัวนี้ช่วยในการขับถ่ายของเสียที่คั่งค้างตามเส้นในร่างกาย ช่วยให้ถ่ายบ้างแต่ไม่ใช่ยาที่ใช้ในการขับถ่ายหรือระบาย ซึ่งต่างจากยาถ่ายที่อยู่ในกลุ่มยาสามัญประจำบ้านระบุสรรพคุณว่าใช้เป็นยาถ่าย แต่ตัวยาส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มยาที่ใช้ในการระบายน้ำเหลืองมากกว่า ต่างจากยาที่ชื่อตรีฉินทลมกา ยาตำรับนี้เป็นยาในพิกัด เป็นยาที่ใช้ขับถ่ายได้ดี ขับพวกอุจจาระเน่าๆ ที่ตกค้างในร่างกายออกมาได้หมดจด เพราะมีตัวยาแรงอย่างรงทองเป็นส่วนประกอบ
และยังมีตำรับยาคลายเส้นอีกตำรับที่มีฤทธิ์ยาดี ส่วนประกอบของยา ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน แซ่ม้าทะลาย กำแพงเจ็ดชั้น กำลังวัวเถลิง กำลังเสือโคร่ง โคคลาน ฮ้อสะพายควาย ม้ากระทืบโรง รางแดง เอ็นอ้าขาว หัวเข่าคอน สรรพคุณช่วยลดอาการปวดเมื่อยและข้อเข่าลั่น
ยาธรณีสันฑมาตและยาคลายเส้นใช้ร่วมกันได้ผลดี ลดอาการปวดเมื่อจากเอ็นยึด และปวดเมื่อยต่างๆ และมีผู้ใช้รักษาอาการกระดูกทับเส้นพบว่าได้ผลดีเอาอยู่ ถ้าใครศึกษายาตำรับไทย ยาสมุนไพรแล้วจะพบว่าศึกษาแล้วยังแตกหน่อความรู้ไม่มีวันจบ มีความมหัศจรรย์เหมือนกับร่างกายของเรา ยาไทยจึงยังเป็นคำตอบในการดูแลสุขภาพของคนไทยได้อีกมากมาย ถ้าช่วยกันศึกษาและส่งเสริมความรู้ให้เกิดการยอมรับในระดับคุณภาพและมาตรฐานที่หมอแผนปัจจุบันสามารถสั่งจ่ายยาเหล่านี้ได้อย่างมีความรู่ความเข้าใจ ไม่ใช่แค่เป็นทางเลือกของคนที่ไร้ความหวัง หรือเป็นยาในบัญชียาหลักที่มีเพียงชื่อติดไว้เท่านั้น แต่คนใช้กลับใช้ไม่เป็น คนไข้ก็ไม่ได้รับโอกาสที่ดีเหล่านั้นด้วย..
หากต้องการทราบการอัพเดทของ สุขภาพน่ารู้ ปวดเมื่อยขาทำไงดี ยาไทยที่ใช้รักษาอาการปวด และเรื่องที่เกี่ยวข้อง แนะนำให้กด ที่ facebook ด้านล่างนี้เลยค่ะ เผื่อที่จะได้อัพเดทก่อนใคร
อัพเดทเมื่อ วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556 ในหมวดหมู่ของ สุขภาพน่ารู้ เรื่อง สุขภาพน่ารู้ ปวดเมื่อยขาทำไงดี ยาไทยที่ใช้รักษาอาการปวด