1. ระบบบำบัดน้ำเสียจากส้วมที่ใช้กันทั่วไป จะแบ่งเป็น 2 บ่อ คือ บ่อบำบัดที่เรียกกันว่า "บ่อเกรอะ" กับบ่อน้ำที่บำบัดแล้วและให้ซึมไปโดยใช้ชั้นดินเป็นตัวกรองตะกอนแขวนลอย เรียกว่า "บ่อซึม" ครับ ภาษาอังกฤษจะเรียกระบบนี้ว่า Septic Tank
2. การทำงานของบ่อเกรอะ ก็โดยการใช้แบคทีเรียมาย่อยสลาย(กิน)ของเสีย ในแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งเรียกแบคทีเรียพวกนี้ว่า Anarobic Bacteria หลังจากการย่อยสลาย จะเหลือตะกอนที่ตกจมในบ่อเกรอะ และตะกอนที่แขวนลอยไหลไปเข้าบ่อซึมไม่มากนัก กับก๊าซมีเธน และ"ฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า
3. การทำงานของบ่อซึมก็โดยที่รับน้ำที่ไหลล้นออกมาจากบ่อเกรอะ มาพักไว้ให้ค่อยๆ ซึมเข้าไปในดินรอบๆถังลงไปเป็นน้ำใต้ดิน (น้ำบาดาลนั่นแหละครับ) บ่อนี้หากคนออกแบบละเอียดจะเขียนให้ใส่อิฐหักหรือทรายลงไปรอบๆถังกลม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวการซึม เพื่อให้มีอายุใช้งานนานขึ้น เพราะเมื่อใช้ไป ตะกอนแวนลอยก็จะไปอุดช่องว่างระหว่างเม็ดดินทำให้อัตราการซึมลดลง
ทีนี้ก็มาถึงสาเหตุที่ทำให้บ่อใช้งานได้ไม่เต็มที่ นะครับ
1. น้ำรั่วที่โถ โถส้วมที่ใช้ไปนานๆ ซีลยางที่ติดระหว่างลิ้นเปิดน้ำอาจรั่ว ซึ่งทำให้น้ำไหลลงโถตลอดเวลา แม้อาจจะน้อยจนสังเกตแทบไม่ได้แต่อาจมากกว่าอัตราการซึมของบ่อซึม ซึ่งจะทำให้บ่อเต็มเร็ว ซึ่งหากเปิดบ่อขึ้นมาดูน้ำจะมีสภาพค่อนข้างใส (ปกติจะต้องดำ) การตรวจสอบง่ายๆ ก็ลองปิด Stop Valve ที่จ่ายน้ำเข้าถังชักโครก แล้วลองสังเกตว่าน้ำในถังแห้งหรือเปล่า ถ้าแห้งก็แสดงว่า เงินคุณกำลังไหลไปกับบน้ำลงถังส้วม ครับ
2. บางบ้านที่รักความสะอาด พอได้กลิ่นเหม็นในห้องน้ำ ก็มักใส่ยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาล้างห้องน้ำลงไปในโถส้วมเต็มที่ ซึ่งแน่นอนครับว่า ทำให้กลิ่นเหฒ็นหายไป (จากก๊าซไข่เน่า) แต่ผลที่ตามมาก็คือ เชื้อที่ย่อยสลายในบ่อเกรอะก็ตายแบบยกครัวเหมือนกัน การย่อยสลายแบบไร้อากาศมีข้อดีกว่าแบบใช้อากาศคือ มันย่อยสลายพวกไขมันได้แม้ไม่มากนัก เพราะในของเสียที่เราถ่ายลงในโถมันมีไขมันปะปนอยู่ (ผมยังไม่เคยเห็นส้วมที่ไหนมีบ่อดักไขมัน น่ะครับ) ทีนี้พอไม่มีเชื้อมาย่อยสลาย ไขมันส่วนหนึ่งก็จะลอยเป็นฝาบนผิวน้ำในบ่อเกรอะและเป็นตัวกันกลิ่นไม่ให้ขึ้นมา แต่อีกส่วนนึงที่ยังแขวนลอย เพราะขนาดมันเล็กมากก็จะไหลไปเข้าบ่อซึม และเข้าไปอุดตามช่องว่างเม็ดดิน ทำให้น้ำซึมไม่ได้ (ตะกอนแขวนลอยที่มีขนาดใหญ่ จะมีโอกาสตกจมในบ่อซึมก่อน ขนาดเล็กก็จะไหลเข้าใกล้ผิวดินได้มากกว่า และมีโอกาสวึมผ่านไปได้ระยะหนึ่ง แต่ตะกอนไขมันจะมีขนาดใหย๋แต่เบากว่าน้ำ มันจึงสามารถไปเกาะติดที่ผิวดินได้ง่ายกว่า) ในกรณีนี้ก็ต้องให้พระเอกตัวเล็กๆ ค่อยๆ มาย่อยสลายมันละครับ ก็คือไปหา EM มาใส่เพื่อเร่งช่วงแรก และไม่ต้องกลัวนะครับเดี๋ยวมันก็เข้าสู่สมดุลเอง คือ ในช่วงแรกอาหารเยอะมันก็จะขยายพันธุ์กันอย่างสนุกสนาน แย่งกันกิน ซักพักนึงอาหารน้อยลง ตัวที่อ่อนแอก็ลาไปก่อน จะเหลือเฉพาะที่แน่จริงๆ เท่านั้น อาการที่สังเกตในกรณีนี้ คือ หากเปิดบ่อเกรอะจะไม่ค่อยมีกลิ่นพุ่งขึ้นมา
3. ในระบบบ่อเกรอะ บ่อซึมนี้ หัวใจอยู่ที่การระบายน้ำ ในอดีตการซึมอาจมีประสิทธิภาพดี เพราะเนื้อดินมีช่องว่างมาก รวมถึงระดับน้ำใต้ดินต่ำ แต่พอชุมชนมีการเติบโต มีการก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีการถมดิน ซึ่งผลของการถมดินนั้นจะทำให้ดินมีการยุบตัวในแบบ Consolidation คือน้ำหนักดินที่เพิ่มมากดลงบนดินเดิมทำให้ช่องว่างระหว่างเม็ดดินน้อยลง ซึ่งก็หมายถึงอัตราการซึมที่ลดลง ชั้นดินที่หนาขึ้น เมื่อเวลาฝนตกกว่าที่น้ำจะต้องใช้เวลานานขึ้นในการที่จะซึมลงถึงระดับน้ำใต้ดินที่จุดเดิม จึงเป็นผลให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น ซึ่งทำให้บ่อซึมทำงานได้น้อย และบางกรณีแทนที่จะไหลออก กลับไหลเข้าเพราะระดับน้ำใต้ดินสูงกว่าบ่อซึมก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ การตรวจสอบก็ทำโดยการขุดหลุมห่างจากบ่อซึม เพื่อตรวจสอบระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งหากระดับยังต่ำอยู่ ก็ถือว่าโชคดีที่อัตราการซึมที่บ่ออาจน้อย แค่ขุดหลุมกว้างๆ ใส่อิฐหักและทรายลงไป แล้วขุดร่องจากบ่อซึมให้น้ำไหลมาที่ลานซึมได้ก็พอแก้ปัญหาได้ แต่ถเระดับน้ำใต้ดินสูง ก็เหลืออีก 2 วิธี อันแรกก็ต่อท่อจากบ่อซึมเอาน้ำไปทิ้งในท่อระบายน้ำเสียชุมชน กับอีกวิธีนึงที่เหมาะกับผู้มีเงิน คือ ติดไดรโว่ในบ่อซึมเพื่อสูบน้ำออกไปทิ้ง ซึ่งถูกกว่าเรียกรถมาสูบบ่อยๆ ครับ
4. และส่งท้าย ปัญหาที่ไม่น่าจะเกิด ก็คือท่อระบายอากาศ เวลากดชักโครก น้ำในโถประมาณร่วมสิบลิตร จะไหลลงบ่อเกรอะ การไหลลงมานี้มันจะเพิ่มปริมาตรของน้ำในบ่อเกรอะ ซึ่งจะต้องระบายอากาศที่มีปริมาตรเท่ากันออกไปทางท่อระบาย อากาศ ซึ่งมักเรียกกันว่า ท่อหายใจ ท่อนี้มีหน้าที่ไว้ระบายอากาศ ดังนั้นปลายท่อด้านในบ่อเกรอะ จะต้องอยู่ให้สูงใกล้ๆ ฝาท่อ ไม่ใช่จมน้ำ โดยในช่วงแรกช่างทำไว้ถูกต้อง แต่ตอนมาสูบส้วม คนงานที่ไม่รู้เรื่องหลังจากเจาะฝาเพื่อใส่สายสูบ ตอนปิดฝากลับไม่ใส่ท่อนี้ หรืออาจใส่แต่ตอนที่ปูนยังไม่แห้งดีท่อมันลื่นไหลลงจนปลายจมใต้น้ำ มันก็จะระบายอากาศไม่ได้ กรณีนี้ถ้าเป็นบ้านสองชั้นสังเกตจากเมื่อทิ้งน้ำจากชั้นบน ระดับน้ำในโถชั้นล่างจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับ และอาจมีอาการอากาศปุดออกมาจากโถ ครับ การแก้ไขก้ใส่ท่อระบายนี้เท่านั้นเอง
สุดท้าย ก็ งานช่างไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องสังเกตและอธิบายการทำงานเท่านั้นเองครับ จะแก้ปัญหาต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อน เพื่อแก้ให้ตรงจุดครับ
หากต้องการทราบการอัพเดทของ ข่าวเด็ด ส้วมเต็มไว สาเหตุเกิดจากอะไรใครไม่รู้ หาคำตอบได้ และเรื่องที่เกี่ยวข้อง แนะนำให้กด ที่ facebook ด้านล่างนี้เลยค่ะ เผื่อที่จะได้อัพเดทก่อนใคร
อัพเดทเมื่อ วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556 ในหมวดหมู่ของ ข่าวเด็ด เรื่อง ข่าวเด็ด ส้วมเต็มไว สาเหตุเกิดจากอะไรใครไม่รู้ หาคำตอบได้