สวัสดีครับ
จากเสียงสะท้อนที่ได้รับ ทำให้ผมสรุปได้ว่า ในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ คนไทยอยากพูดเก่ง มากกว่าอ่านเก่ง หรือเขียนเก่ง และปัญหาที่ทำให้ไม่เก่งอย่างต้องการก็คือ ไม่มีโอกาส – ไม่มีเวลา – ไม่มีเงินที่จะไปเรียนกับอาจารย์หรือโรงเรียนสอนพูดภาษาอังกฤษ หลายคนดาวน์โหลดหนังสือ, ไฟล์ mp3, คลิป, หรือโปรแกรมเรียนภาษาอังกฤษไว้มากมาย แต่ก็แทบไม่ได้ใช้มัน เพราะว่ามันไม่ใช่ครู จึงไม่ต้องการเรียนกับมัน ต่อให้ใครพูดแทบตายว่านั่นเป็นสื่อการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเองที่ใช้ได้ผล ก็ไม่ฟังเพราะไม่เชื่อ
ถ้าเราเป็นไข้ไม่สบาย เวียนหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แล้วมีใครบอกว่า ไม่ต้องไปหาหมอหรอก อ่านตำรารักษาตัวเองก็ได้ ตำราแนะนำให้กินยาอะไรก็กินตามนั้น ไม่ต้องไปหาหมอเพราะตำราที่อ่านก็หมอนั่นแหละเป็นคนเขียน เพราะฉะนั้นอ่านตำราก็เหมือนกับไปหาหมอ แล้วจะต้องไปหาหมอจริง ๆ ให้เสียเงินเสียเวลาทำไม ท่านจะเชื่อคนที่แนะนำอย่างนี้ไหม ผมเชื่อว่าท่านไม่เชื่อ
ทำไมท่านจึงไม่เชื่อ คำตอบง่ายมากครับ
1.เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องซับซ้อน ตำรารักษาโรคที่ดีวิเศษปานใดก็ไม่สามารถใช้แทนหมอซึ่งสะสมประสบการณ์จริงจากการรักษา ตำราจึงใช้แทนหมอไม่ได้
2.เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ซึ่งเราไม่สามารถเอาการลองผิด-ลองถูกเข้าไปเสี่ยง ถ้าเกิดลองแล้วผิดชีวิตคนไข้ซึ่งมีอยู่หนึ่งเดียวก็เสียไปเลย เอาคืนไม่ได้
แต่
น่าเสียดายยิ่งนัก....
น่าเสียดายยิ่งนัก....
น่าเสียดายยิ่งนัก....
น่าเสียดายอะไร ? น่าเสียดายที่คนไทยชอบเอาการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนแอ ไปเปรียบเทียบกับอาการเจ็บไข้ร่างกายอ่อนแอ และเชื่ออย่างนั้นอย่างสนิทใจ
โดยไม่ยอม...
ไม่ยอมอ่านตำราภาษาภาษาอังกฤษ เพื่อรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนแอของตัวเอง เหมือนกับที่ไม่ยอมซื้อตำรารักษาโรคมาอ่าน เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บของตัวเอง
จะต้อง...
จะต้องเรียนกับครูสอนภาษาอังกฤษให้ได้ ถ้าไม่มีครูก็ยอมตายคาบ้านไม่ยอมรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนด้วยตัวเอง เหมือนกับที่จะต้องรักษาโรคกับหมอให้ได้ ถ้าไม่มีหมอก็ยอมรับสภาพ นอนรอความตาย
แต่... แท้จริงแล้วการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อน กับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย เป็น 2 เรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แตกต่างกันยังไง?
หนึ่ง -การรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อน เราสามารถเป็นหมอรักษาตัวเองได้ ยิ่งรักษายิ่งเพิ่มประสบการณ์ ยิ่งชำนาญ
สอง –การรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย ห้ามลองผิด เพราะการลองผิดอาจจะหมายถึงความตายที่ไม่มีทางแก้ แต่การรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนต้องยอมลองผิด เพราะการลองผิดช่วยให้เรามีประสบการณ์ตรง อันนำไปสู่การลองถูก และไม่ย้อนกลับมาลองผิดอีก เพราะฉะนั้น การลองผิดจึงเป็น step ที่สำคัญของการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อน ซึ่งควรยินดี แทนที่จะอับอายหรือรังเกียจ
@@@@@
บ่อยครั้งที่ผมเจอรุ่นน้องที่พูดว่า ทิ้งภาษาอังกฤษมานานตั้งแต่เรียนจบ อยากจะฟื้นฟูใหม่ตั้งแต่เริ่ม เขาทำเหมือนกับว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวตนเขาไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษมาเลย เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องการ
อันดับแรก – มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์เก่ง ๆ ที่สอนสนุก ไม่เครียด เรียนไปหัวเราะไป และถ้าจะให้ดี ก็ไม่ต้องมีงานให้กลับไปทำเป็นการบ้านคนเดียวโดยไม่มีครูอยู่ใกล้ ๆ ให้เพลิดเพลิน ผมขอถามง่าย ๆ สัก 3 ข้อเถอะครับ
-อาจารย์เก่งอย่างที่ว่านี้ท่านหาเจอได้ง่าย ๆ มั้ย?
-ถ้าท่านเจอ และเรียนจบกับอาจารย์แล้ว ท่านสามารถนำสิ่งที่อาจารย์สอนไปเรียนด้วยตัวเองได้หรือเปล่า?
-ถ้าท่านเรียนด้วยตัวเองไม่ได้ ท่านจะต้องหาทางมาเรียนกับอาจารย์ทั้งปีทั้งชาติหรือเปล่าครับ เพื่อให้ตัวเองเก่งภาษาอังกฤษ?
ถ้า choice คือเรียนกับอาจารย์อย่างถาวรทำไม่ได้ (มันทำไม่ได้อยู่แล้ว!!) ก็เหลือทางเลือกอันดับสอง คือ ศึกษากับหนังสือ, ไฟล์ mp3, คลิป, หรือโปรแกรมเรียนภาษาอังกฤษ ที่ทำหน้าที่แทนอาจารย์ หลายคนต้องจับทางเลือกนี้อย่างจำใจ และไม่ยอมทำอะไรกับมัน
เขารออะไร... ?
เขารอให้มีคนมาบอกคำตอบสำเร็จรูปในวิธีการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ถ้าไม่มี ก็ปล่อยให้หนังสือ, ไฟล์ mp3} คลิป, หรือโปรแกรม ที่สะสมไว้หรือมีคนนำมาให้นอนค้างอยู่อย่างนั้น
และแล้ววันหนึ่งเขาก็โชคดี มีคนมาบอกวิธีการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเองที่สนุก ไม่เครียด ไม่ต้องหักโหม และได้ผลอย่างรวดเร็ว เขาดีใจและมีความหวังขึ้นมา และก็ลองทำตามวิธีนั้น
แต่ในไม่ช้าเขาก็พบว่า วิธีที่ลองทำมันก็ไม่สนุกนัก ออกจะเครียด บางครั้งต้องออกแรงเยอะแต่กลับได้ผลน้อยและช้าไม่ทันใจ เขาก็เลยเลิกทำ
และเขาก็กลับไปสู่สภาพเดิม คือรอให้มีใครมาบอกวิธีสำเร็จรูปในการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ที่ดีเลิศประเสริฐศรี ที่มีเงื่อนไขว่า ต้องสนุก ไม่เครียด ไม่ต้องหักโหม และได้ผลอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ก็ยังรออยู่อย่างนั้น
@@@@@@
ผมรู้สึกว่ามีลักษณะการใช้ชีวิตของฝรั่งอย่างหนึ่งที่คนไทยรับมาแต่ก็ยังไม่เต็มที่นัก คือ การทำอะไรให้เป็นด้วยตัวเอง คำจำพวกนี้ที่เราได้ยินบ่อย ๆ คือ how-to และ DIY- Do It Yourself มันอาจจะเป็นเพียงหนังสือที่แนะนำทิบหรือเทคนิคที่ช่วยแนะวิธีทำของยากให้ง่าย และวิธีที่หนังสือแนะนำอาจจะสั้น ๆ เพียง 2-3 ประโยค อ่านแล้วเข้าใจและนำไปทำได้ทันที หรือมันอาจจะยาว ๆ เป็นบท ๆ หรือเป็นเล่ม ต้องลงทุนศึกษาและฝึกฝน หรืออาจจะมีชุดอุปกรณ์ที่ขายพร้อมคู่มือ เช่นให้ท่านเป็นช่างเองในบ้านโดยไม่ต้องจ้างช่างอาชีพมาซ่อมนั่นซ่อมนี่ให้เสียเงิน ฝรั่งเขาต้องทำอย่างนี้อาจจะเพราะว่าค่าจ้างช่างแพง พ่อบ้านแม่บ้านจึงต้องเรียนรู้ทำของพวกนี้ด้วยตัวเอง วัฒนธรรม DIY จึงแน่นในบ้านเขามากกว่าในบ้านเราที่สามารถจ้างช่างได้ง่ายกว่า เพราะราคาไม่แพงนัก
ณ นาทีนี้ สำหรับท่านที่ต้องการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนแอของตัวเอง ผมเห็นว่า เมื่อท่านอ่าน how-to ในการรักษาโรคฯ ท่านก็ต้องลงทุนทำตาม how-to นั้น เพราะเมื่อเรามองดูสภาวะของความจำเป็นในการศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อการค้าและการอยู่รอดของคนทั้งโลก เราก็เห็นได้ชัดว่า การศึกษาภาษาอังกฤษเป็น DIY- Do It Yourself ไปเสียแล้ว ท่านอย่าไปหวังเลยครับว่า จะมีหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน นี่-นั่น-โน่น มาช่วยท่านจนสมใจ ถ้าท่านขอเขามาก เขาอาจจะตอบกลับว่า DIY!!
@@@@@
วันนี้กลับจากที่ทำงาน ก่อนที่จะขึ้นลิฟต์ไปยังห้องอพาร์ตเมนท์ที่พัก ผมลองทำตามคำแนะนำในการฝึกพูดภาษาอังกฤษที่ผมเคยให้แก่ท่านผู้อ่านเมื่อหลายปีมาแล้ว คือฝึกพูดภาษาอังกฤษคนเดียวโดยจินตนาการว่าพูดกับเพื่อนคนใดคนหนึ่งที่สนิท ผมเดินไปตามตึกแถว ๆนั้น เลือกย่านที่ไม่ค่อยมีคนเดินผ่าน แล้วลองนึกเติมคำในช่องว่าของ 2 ประโยคนี้
ประโยคที่ 1:
สิ่งของ (จับต้องได้ หรือ นามธรรม) is….. เช่น
7-Eleven is…..
A dictionary is….
Love is….
My mother is…
My house is…
สมศักดิ์(เพื่อนคนหนึ่ง) is…
นครราชสีมา is…
วัดพระแก้ว is…
ส้วม is….
ผมพยายามนึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้สารพัดอย่าง แล้วพยายามพูดต่อประโยคให้จบ ออกมาเสียงดังพอให้ตัวเองได้ยิน ถ้านึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่จะใช้ไม่ออก ก็พยายามเค้นหาคำศัพท์ง่าย ๆ สมัยชั้นประถมที่ยังหลงเหลือมาถึงวันนี้ นึกโดยไม่รีบ แต่นึกไม่หยุด และนึกดัง ๆ โดยพูดออกมา จะพูดช้า พูดหยุด พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ พูดผิด ๆ ยังไงไม่ก็ไม่เป็นไร(เพราะพูดอยู่คนเดียว) แต่พยายามนึกไม่หยุดและพูดไม่หยุด คำใดที่สามารถต่อประโยคที่ 2 ได้ก็ต่อ คำใดต่อไม่ได้หรือไม่อยากต่อก็เลื่อนไปคำใหม่ ผมพยายามทำสัก 20 คำ
และประโยคที่ 2:
I like (สิ่งของ) because…… เช่น
I like เชียงใหม่ because….
I like my job because….
I like น้องกุ้ง because….
I like ท่านชายพุฒิภัทร because….
ฯลฯ
วิธีนึกและพูด ก็ฝึกอย่างประโยคที่ 1
ความสำเร็จของการฝึก ไม่ได้วัดจากถ้อยคำหรือประโยคหรูหรา สละสลวย ที่เราสามารถนึกเอามาแต่งต่อเติม แต่อยู่ตรงที่เราสามารถใช้การออกกำลังสมองเช่นนี้ ชำระสะสางสิ่งที่ตกค้าง ขาด ๆ บิ่น ๆ เลอะ ๆ เลือน ๆ ของภาษาอังกฤษที่หลงเหลืออยู่ในสมอง การลงมือ “ล้างบ้าน” ด้วยตัวเองเช่นนี้ ได้ผลดีกว่าการที่ท่านนั่งอยู่ในห้อง รอให้อาจารย์เข้ามายื่นกระดาษพร้อมคำศัพท์ 100 คำให้ท่านเช็กดูว่าท่านรู้กี่คำ แล้วก็ประเมินท่านว่า ท่านอยู่ในระดับ beginner, intermediate หรือ advanced เสียอีก เพราะถึงแม้ท่านจะรู้ผลการประเมิน สมองของท่านก็ออกแรงมากขึ้นกว่าเดิมนิดเดียวเท่านั้นเอง แต่ถ้าท่านออกแรงเขย่าสมองและขยับปากของท่านด้วย 2 คำถามนี้ และคำถามอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กันนี้ บ่อย ๆ ทุกวัน ท่านก็จะเริ่มรู้จัก “อวัยวะ” ของท่านที่เป็น “โรค” และหาทางรักษาโรคนั้นได้
@@@@@
ในประเทศไทยซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการหรือภาษาที่สอง การเริ่มฝึกพูดภาษาอังกฤษให้ได้ผลดี ควรจะทำได้พร้อมกับการฝึกอ่าน และฝึกฟังเรื่องง่าย ๆ ซึ่งในเว็บนี้ก็มีไว้ให้พอสมควร เช่น
ฝึกภาษาอังกฤษ โดยการฟังและอ่านตาม คลิปคาราโอเกะ - e4thai
ดาวน์โหลด Story เกือบ 2,000 เรื่อง เพื่อฝึกฟังและอ่านตาม (ไม่ยากครับ !!)
ชม 86 คลิป American Idioms ฟังง่าย-เข้าใจง่าย-ใช้บ่อย-มี subtitle บนจอด้วย
ข่าวเดียวกัน มี 3 ระดับ ง่าย-กลาง-ยาก ให้เลือกฝึกอ่าน และฟัง - e4thai
การที่เรามี 1 ปากทำหน้าที่ในการพูด แต่มีตาถึง 2 ตา และหูถึง 2 หู รวมเป็น 4 นี่น่าจะบอกเป็นนัยแล้วว่า ปาก 1 ปากคงยากที่จะทำอะไรได้สำเร็จถ้า 2 ตา 2 หูไม่อยู่คอยช่วย การฝึกพูดภาษาอังกฤษก็คงเช่นเดียวกัน
หากต้องการทราบการอัพเดทของ บทสนทนาอังกฤษ ฝึกภาษาอังกฤษเอง วิธีฝึกพูดภาษาอังกฤษ: หนทางมีที่คนไม่ค่อยเดิน และเรื่องที่เกี่ยวข้อง แนะนำให้กด ที่ facebook ด้านล่างนี้เลยค่ะ เผื่อที่จะได้อัพเดทก่อนใคร
อัพเดทเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ในหมวดหมู่ของ บทสนทนาอังกฤษ เรื่อง บทสนทนาอังกฤษ ฝึกภาษาอังกฤษเอง วิธีฝึกพูดภาษาอังกฤษ: หนทางมีที่คนไม่ค่อยเดิน