พระบรมราโชวาทของในหลวง – คำสอนของพ่อ
ความดี
การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ
เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่
และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ซโดยไม่ทันรู้สึกตัว
แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง
พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525
.....
การทำงาน
เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ
ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้
หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง
คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด
ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่
มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต
ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530
.....
คุณธรรมของคน
ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง
ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม
ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต
และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
คุณธรรมสี่ประการนี้
ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม
จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น
และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป
พระบรมราโชวาท ในพิธีบรวงสรวง
สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2535
.....
ความเพียร
ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้น
คือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป
และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง
กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม
ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง
ความเพียรทั้งสองประการนี้
เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน
ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว
ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม
ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม
พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก
ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539
.....
แก้ปัญหาด้วยปัญญา
ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้
ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก
การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล
เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม
ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด
สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา
คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ
เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด
และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น
ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ
เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน
เป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539
.....
ความพอเพียง
คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอมีกิน
เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้
ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง
แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาของตัวเอง
หมายความว่า สองขาของเรายืนบนพื้นให้อยู่ได้
ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่
คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย
เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
พอเพียง อาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้
แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น
พระราชดำรัสพระราชทานอในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้า
ถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
หากต้องการทราบการอัพเดทของ ธรรมะ ธรรมะ คำพ่อสอน พระบรมราโชวาทของในหลวง – คำสอนของพ่อ และเรื่องที่เกี่ยวข้อง แนะนำให้กด ที่ facebook ด้านล่างนี้เลยค่ะ เผื่อที่จะได้อัพเดทก่อนใคร
อัพเดทเมื่อ วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ในหมวดหมู่ของ ธรรมะ เรื่อง ธรรมะ ธรรมะ คำพ่อสอน พระบรมราโชวาทของในหลวง – คำสอนของพ่อ